กฎหมายคาร์ซีต ปกป้องเด็ก 6 ขวบ จากอันตรายอุ้มลูกนั่งตัก

กฎหมายคาร์ซีต

อย่างที่ทราบกันว่า กฎหมายคาร์ซีต เริ่มบังคับใช้แล้วตั้งแต่ปี 2565 ที่ผ่านมา เพื่อความปลอดภัยของเด็กเล็กที่ต้องโดยสารรถยนต์ แต่โทษของการไม่ปฏิบัติตาม คือ ปรับสูงสุดเพียง 2,000 บาทเท่านั้น

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ได้จัดแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนเรื่องความสำคัญของการใช้คาร์ซีตอีกครั้ง เนื่องจากมีข่าวเด็กกระเด็นออกมาจากตัวรถยนต์ ตกสะพานสูงกว่า 30 เมตร จนเสียชีวิต เร่งรัฐควรประชาสัมพันธ์ความรู้การใช้คาร์ซีต และเตรียมออกกฎหมายลูกเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น

กฎหมายคาร์ซีต

เด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี ควรนั่งที่นั่งนิรภัย กฎหมาย

ทั่วโลกมีการใช้คาร์ซีต ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก โดยสองสิ่งนี้ไม่ว่าจะมีชื่อเรียกว่าอย่างไร ก็ควรเป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ค่ายรถยนต์นำมาแนะนำให้กับผู้ใช้ โดย รศ.นพ.อดิศักดิ์ ได้กล่าวว่า “ไม่ควรโฆษณาว่าเป็นรถครอบครัว แต่ควรแนะนำว่าถ้าจะมีเด็กโดยสารไปด้วยต้องใช้ที่นั่งพิเศษเพิ่มความปลอดภัย”

ความรู้ความเข้าใจของการใช้ที่นั่งนิรภัยก็สำคัญ ประชาชนส่วนใหญ่ยังติดภาพของการนั่งรถยนต์ ไปพร้อมกันทั้งครอบครัวในลักษณะแม่ให้ลูกนั่งตัก ซึ่งหากถุงลมนิรภัยทำงานขณะเกิดอุบัติเหตุ จะไม่ปลอดภัย

ควรติดตั้งคาร์ซีตให้ถูกต้อง ถูกตำแหน่ง

  • เด็กแรกเกิดถึง 2 ขวบ หันหน้าเข้าเบาะหลัง
  • เลือกคาร์ซีตที่มีระบบมาตรฐาน isofix มีตัวยึดติดกับเบาะรถได้อย่างปลอดภัย
  • การติดตั้งคาร์ซีตไว้ด้านข้างคนขับ ต้องตรวจสอบการทำงานของถุงลมนิรภัย ทำได้เมื่อระบบถุงลมนิรภัยของรถยนต์ปิดการใช้งานได้
  • หากปิดการใช้งานถุงลมนิรภัยไม่ได้ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ตัวถุงลมนั้นจะดีดกระทบเด็กที่นั่งบนอ้อมกอดแม่ จนเกิดอันตราย
  • เด็กอายุเกิน 2 ปี นั่งที่นั่งพิเศษ เสริมจากเบาะรถยนต์ เพื่อคาดเข็มขัดนิรภัย ให้ปลอดภัยได้

แม่อุ้มลูก + ถุงลมนิรภัย = ไม่ปลอดภัย

โดยปกติแล้วตัวถุงลมนิรภัยจะออกแบบมาให้ป้องกันการกระแทกของศีรษะ มีระยะห่างจากการคาดเข็มขัดนิรภัยประมาณ 25 เซนติเมตร เคยมีกรณีอุบัติเหตุที่ถุงลมนิรภัยดีดเด็กกระเด็นออกจากตัวแม่ ทำให้เด็กเสียชีวิตนอกรถ และส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ปี

ทางสถาบันฯ ได้ยกตัวอย่างกรณีการโดยสารรถยนต์ เมื่อเกิดอุบัติเหตุมีเด็กเสียชีวิตขณะโดยสาร 8 เหตุการณ์สูญเสีย ดังนี้

เหตุการณ์อุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิต

  • กระบะพลิกคว่ำ พ่อแม่รอด ลูกสาว 7 ขวบ พุ่งออกนอกรถ ศีรษะฟาดกระจก เสียชีวิต
  • ป้าก้มเปลี่ยนแผ่นซีดี ขับกระบะขึ้นเนิน พาเด็กๆ ขึ้นท้ายไปเล่นน้ำสงกรานต์ หลาน 6 ขวบกระเด็นออกจากท้ายรถ ศีรษะกระแทกพื้น หลาน 8 ขวบ เสียชีวิตคาที่
  • พ่อขับกระบะตอนเดียว คาดเข็มขัดร่วมกับลูกชายอีก 2 คน รถพุ่งมาชน ลูก 8 ขวบ ตัวหลุดออกจากเข็มขัดนิรภัย ลูก 6 ขวบ ตัวกระเด็นกระแทกกระจกด้านหลัง ศีรษะเกิดแผลขนาดใหญ่เสียชีวิต
  • ครอบครัวลูก 4 คน 18 ล้อ เลี้ยวชนกะทันหัน ลูก 3 ขวบเสียชีวิต ลูก 2 ขวบ เสียชีวิต สมองไหล
  • พ่อแม่ลูก ขับรถยนต์ 5 ประตู ไปซื้อกับข้าว แม่กะโหลกศีรษะแตกเสียชีวิต ลูกไขสันหลังบาดเจ็บ เสียชีวิต
  • รถสองแถวรับส่งนักเรียน คนขับอยู่ในสภาพไม่พร้อม รถเสียหลัก เด็กเสียชีวิตหลายคน รถตู้รับส่งนักเรียน คนขับเสพยาบ้า รถเสียหลัก เด็กเสียชีวิตหลายคน
  • พ่อแม่ลูก ขึ้นทางด่วน พวงมาลัยล็อกกะทันหัน เด็ก 6 ขวบ กระเด็นออกจากรถ ตกสะพานเสียชีวิต

กฎหมายคาร์ซีต ใช้กับใคร

กฎหมายคาร์ซีต บังคับใช้กับรถที่ต้องมีผู้โดยสารเป็น เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี หรือสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ควรได้นั่งที่นั่งพิเศษ ดังนั้นถึงรวมเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี ที่สูงไม่เกิน 135 เซนติเมตรเข้าไปด้วย ทำให้เราเห็นว่าสังคมบ้านเรา ยังมีจุดอ่อนที่ยังไม่สามารถใช้กฎหมายคาร์ซีตได้ 100% เนื่องจาก

1. ความรู้ความเข้าใจของประชาชนว่าจะใช้คาร์ซีตทำไม
2. ความคิดเดิมที่คิดว่าคาร์ซีตราคาแพง ปัจจุบันมีผู้ผลิตนำมาจำหน่าย ได้มาตรฐาน ราคาจับต้องได้ในหลักพัน
3. ผู้ใช้ถนน คนขับรถบ้านเรา ขับขี่ไม่ปลอดภัย
4. กฎหมายออกใบขับขี่ การตัดคะแนนความประพฤติที่ไม่ได้จริงจัง ไม่คัดกรองผู้มีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม

รศ.นพ.อดิศักดิ์เผย “รถยนต์แต่ละประเภทไม่เหมาะกับเด็ก ต่ำกว่า 9 ขวบ 100% การโฆษณาว่าเป็น รถครอบครัว ผิด ต้องแนะนำให้ใช้อุปกรณ์เสริม”

ประเภทของที่นั่งนิรภัย

ที่นั่งนิรภัยจะมีหลายชื่อ ตามมาตรฐานสากลแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. คาร์ซีตแบบกระเช้า : สำหรับเด็กแรกเกิด-2 ปี ที่นั่งหันหน้าไปทางหลังรถ มีระบบที่นั่งในมาตรฐานใหม่ เรียก isofix รถทุกรุ่น มีระบบมาตรฐาน

2. คาร์ซีตสำหรับเด็กโต : ลักษณะเป็นเก้าอี้ที่ใช้ติดตั้งกับเบาะที่นั่งผู้ใหญ่ ติดตั้งโดยวิธีหันหน้าออกมองถนน เรียก Combination Seat สำหรับเด็กอายุ 4-12 ปี

3. Booster Seat : ที่นั่งเสริม สำหรับเด็กโต เป็นที่นั่งเสริมช่วยให้เข็มขัดพอดี ไหล่ ปุ่มกระดูกสะโพก ดังนั้นเวลาเกิดการกระชากจะยึดตัวเด็กไว้กับรถยนต์พอดี กฎหมาย พ.ร.บ. เรียกที่นั่งพิเศษ หรือเรียกว่าที่นั่งนิรภัย ถือว่าใช้ได้ ถือว่ามีความจำเป็น ไม่ต้องแยกคำศัพท์ตามกฎหมาย แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี ตามกฎหมายจราจร ต้องใช้ตัวที่นั่งนิรภัย